Nitan Story
นิทานพื้นบ้านภาคอีสานเรื่อง ปู่ปะหลาน
ตำนานเรื่องเล่า นิทาน นิทานก่อนนอน นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานเรื่อง ปู่ปะหลาน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานเรื่อง ปู่ปะหลาน เป็นนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน ในสมัยแต่ก่อนนั้นทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร แผ่นดินแตกระแหง ผู้คนเผชิญกับความยากจนข้นแค้น อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อ่านสนุก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นติดตามรับชมพร้อมกันเลยค่ะ

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานเรื่อง ปู่ปะหลาน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานเรื่อง ปู่ปะหลาน

ปู่กับหลานได้เดินทางไกลผ่านมายังทุ่งกุลาร้องไห้นี้ เดินข้ามอย่างไรก็ไม่พ้นสักที ปู่ก็จวนเจียนจะหมดแรงอยู่รอมร่อ ส่วนหลานนั้นก็ได้เอาแต่ร้องไห้งอแง ด้วยความเหนื่อยล้า ทั้งยังกระหายน้ำจนดูท่าว่าจะเดินทางไปต่อไม่ไหว จนกระทั่งได้พล่อยหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย (แต่ก่อนนี้ทุ่งกุลาร้องไห้นี้มีความทุรกันดารมาก ทั้งยังมีพื้นที่ที่กว้างใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกันถึงห้าจังหวัด) ปู่จึงได้ใช้ผ้าขาวม้าห่อหุ้มหลานเอาไว้ แล้วนำไปไว้ยังโคนของพุ่มไม้แห่งหนึ่งเพื่อบังแดดให้แก่หลานน้อยนั้นไว้ ปู่จึงได้รีบเดินทางต่อโดยความหวังว่า จะได้พบกับหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดที่ซึ่งมีน้ำเพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่มได้

เมื่อปู่เดินทางจนมาถึงตีนบ้าน ปู่ก็ได้รีบเขาไปขอน้ำดื่มจากชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น พร้อมกับได้รีบนำน้ำใส่บั้งทิง เพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่ม

ส่วนหลานนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่พบปู่ ก็ร้องไห้ด้วยความเสียใจ และด้วยความกลัวตามประสาของเด็ก และจึงได้ออกวิ่ง ทั้งเดินเพื่อตามหาปู่ของตนว่าอยู่ไหน ทั้งยังพร่ำบ่นว่า ปู่นั้นได้ทิ้งตนเองไปแล้ว ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่าปู่นั้นไม่รักตนเอง ปล่อยทิ้งให้หลานนั้นอยู่เพียงลำพังคนเดียวด้วยความไม่ไยดีซึ่งมีปรากฏเป็นบทกลอนของการลำอยู่ ในที่สุดนั้นหลานก็ได้หมดแรง และล้มลง

ปู่นั้นเมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ได้รีบนำกลับมาให้หลานด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อมาถึงพุ่มไม้ที่ได้วางหลานเอาไว้ ก็กลับไม่พบหลานเลย ปู่จึงได้รีบออกค้นหาหลานไปทั่วบริเวณนั้น จนกระทั่งปู่ก็ได้มาพบหลานนอนตายอยู่กลางแดดจ้าของท้องทุ่งอันแสนกันดารแห่งนี้ มีทั้งมด แมลง ไต่ชอนไชอยู่ตามรูจมูก ใบหูและปากไปทั่ว ครั้นเมื่อปู่เห็นสภาพหลานดังนั้นแล้วก็แทบใจขาด น้ำตาร่วงหล่นด้วยความสงสารในชะตากรรมของหลานที่ต้องมาตายอย่างทุกข์ทรมาน ทั้งยังโทษตัวเองว่าทำไมจึงได้ทิ้งหลานไว้ให้อยู่คนเดียว ปู่ได้ค่อย ๆ อุ้มศพของหลานขึ้นแล้วเดินพาหลานกลับไปยังตีนบ้านแห่งนั้น ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ดังกับว่าหัวใจของปู่นั้นจะแตกสลายเสียให้ได้

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน นิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้เรื่อง ปู่ปะหลาน

ต่อมาเมื่อมีความเจริญขึ้นตรงบริเวณนั้น บริเวณบ้านแห่งนั้นก็ถูกเรียกว่าเป็นบ้าน ปะหลาน ซึ่งหมายถึงบริเวณบ้านที่ปู่นั้นได้พบกับศพของหลานนั่นเอง บริเวณนี้เรียกว่า บ้านป๋าหลาน เพราะคำว่าป๋านั้นหมายถึงการทิ้ง เช่น ผัวป๋าเมีย เป็นต้น ซึ่งในบริเวณจังหวัดมหาสารคามนั้น ก็มีชื่อหมู่บ้านนี้ว่าเป็นบ้านป๋าหลานอยู่ ในท้องที่ใกล้ๆ กับอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามในปัจจุบัน

คติสอนใจ:

“อย่าทิ้งลูกหลานที่ทุ่งกุลา”

ความสัมพันธ์ระหว่างนิทานกับสิ่งอื่น คือ “ความแห้งแล้งของทุ่งกุลาร้องให้” 

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีพื้นที่กว้างประมาณ 2 ล้านไร่ และมีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ จังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดยโสธรในเขตอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดมหาสารคามในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอพุทไธสงและจังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และ อำเภอโพนทราย

ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร แผ่นดินแตกระแหง ผู้คนเผชิญกับความยากจนข้นแค้น ต่อมากรมพัฒนาที่ดินได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ. 2524 – 2527 พร้อมทั้งสร้างถนน คลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำ ทำการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้ทำกินอย่างทั่วถึง สามารถพลิกฟื้นให้ชุ่มชื้นเขียวชอุ่ม และในต้นปี พ.ศ. 2530 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น) ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาช่วยเหลือราษฎรภาคอีสานใน “โครงการอีสานเขียว” ทำให้ทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาในครั้งนั้นด้วย

ปัจจุบัน “ท่งกุลาไม่ร้องไห้” อีกแล้ว เพราะทุ่งกุลาเป็นแหล่งผลิตข้าวที่โลกรู้จักในนาม “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นสินค้าออกที่สำคัญให้กับจังหวัดในเขตทุ่งกุลา คือ จังหวัดร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, สุรินทร์, ยโสธร, และศรีสะเกษ…“ทุ่งกุลา ไม่ร้องไห้ น้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่9 (ร.9)”

ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้ น้ำพระทัยจากในหลวง ร.9

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรชาวไทย “ไม่มีพื้นที่แห่งใดเลยในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง”

ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้ น้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่9 (ร.9)

 

เรียบเรียงข้อมูล: nitanstory.com
Credit: หนังสือนิทานพื้นบ้านเมืองเลย,
folktales.sac.or.th/folktale-details.php?id=145

Related posts

นิทานคติสอนใจ เรื่อง ฤาษีลวงตะกวด

Admin

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ใครโง่กว่าใคร

Admin

นิทานนานาชาติเรื่อง ลุงโง่ย้ายภูเขา

Admin