Nitan Story
นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานชีวิตเรื่อง ชะตาวอก มะกอกแห้ง
ตำนานเรื่องเล่า นิทาน นิทานก่อนนอน นิทานคุณธรรม นิทานพื้นบ้าน นิทานเด็ก

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือเรื่อง ชะตาวอก มะกอกแห้ง

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานชีวิตเรื่อง “ชะตาวอก มะกอกแห้ง” เป็นนิทานเรื่องเล่าสอนใจ “สอนให้คนหมั่นทำความดี ละความชั่ว” ซึ่งคำว่า “จ๊ะตาบ่ากอกแห้ง” หรือ “ชะตามะกอกแห้ง” หมายความว่า คนไร้วาสนา ชะตาตก อาภัพอับโชค ทำอะไรไม่เจริญ เป็นนิทานเรื่องเล่าที่กล่าวถึงสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ยากจนแสนเข็ญ ที่ภรรยาชอบทำความดีทำบุญกุศล แต่สามีไม่เคยทำตนเป็นประโยชน์และไม่ทำบุญกุศลเลย ผลของการกระทำอานิสงค์ผลบุญที่ได้รับจึงแตกต่างกัน…เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไรนั้น ติดตามรับชมพร้อมกันเลยค่ะ^^

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานชีวิตเรื่อง ชะตาวอก มะกอกแห้ง

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานชีวิตเรื่อง ชะตาวอก มะกอกแห้ง
Photo credit: พะเยาโพสต์ PhayaoPost @Facebook

มีนางเกสีผู้หนึ่ง เป็นเมียอ้ายทุคตะคือว่าคนที่ยากจนแสนเข็ญ อยู่มาทุกเมื่อเชื่อวันนางเกสีก็เป็นผู้ที่หาเลี้ยงฝ่ายผัวโดยออกไปเป็นคนขอทาน ก่อนออกจากบ้านนั้นนางผู้นี้ก็จะทำกับข้าวให้กับผัวแล้วตนเองก็ไปกินเอาข้างหน้า อยู่มาไม่นานพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตที่เมืองนี้ ๗ วัน นางเกสีก็ไปใส่บาตร ตื่นมาก็หุงข้าวแต่งดาอะไรเสร็จแล้ว หุงข้าวแบ่งใส่หม้อเอาไว้หื้อผัวทุคตะ แล้วนางก็ไปใส่บาตรแล้วเลยไปหากินทางข้างหน้า นางเกสีทำอย่างนี้จนครบ ๗ วันพระพุทธเจ้าบิณฑบาต ๗ วันเสร็จแล้ว

อยู่ไม่นานยักษ์มาถึงที่เมืองแห่งนี้ ไอ่ทุคตะก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟมันเข้าใจว่าเพราะเมียของมันนั้นใส่บาตรพระพุทธเจ้าจึงทำให้ยักษ์มาที่เมืองแห่งนี้ “ข้าไม่รู้กับเจ้านะเรื่องเนี้ยะ เป็นแต่เมียนะใส่บาตร ฮาว่าจะไปใส่บาตร” มันก็กลัวว่าคนทั้งหลายจะยับตัวมันนั้นไปให้ยักษ์กินเป็นอาหาร มันว่าเป็นแต่เมียมันไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า แล้วบอกให้ยักษ์มา “ไม่เป็นไรพี่ ถ้าเขาจะเอาตัวพี่ไปให้ยักษ์นั้นข้าจะไปแทนเอง ข้าขอเสียสละเอง” วันจะไปนั้นนางเกสีผู้นี้ได้สั่งอำลาผัวรักจนเรียบร้อย ตั้งนี่ไปจะไม่ได้อยู่ร่วมกันกับอ้ายทุคตะ ไม่ได้อยู่ร่วมกันแล้ว มันยังหุงหาอาหารแต่งดาให้กับอ้ายทุคตะเป็นมื้อสุดท้าย “ถึงแค่วันนี้นะที่ข้าจะได้ดูแลพี่นะ หลังจากนี้ไปข้าคงไม่ได้ดูแลพี่แล้ว”

แล้วนางก็ไปที่สำนักที่พักศาลาในป่าที่ยักษ์จะมากินคนที่เมืองนี้เอาไปให้ นางก็ขึ้นไปอยู่บนศาลา พระพุทธเจ้ารู้ด้วยญาณวิเศษแห่งพระองค์ ก็ได้เนรมิตกายตนนั้นเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งเข้าไปหานางเกสีผู้นี้ “นี่….นางมาทำอะไรอยู่ที่นี่?” นางก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับพระพุทธเจ้าที่แปลงกายมาฟังทุกอย่าง “เอ ก็คนอื่นเขาทำไมไม่เอามา คนงามคนดีอย่างนางนี้ไม่สมควรที่จะเอามาเนาะ น่าเสียดาย” “ถ้าท่านเอาข้าไว้ได้ก็เอาไว้เถอะ” นางเกสีกล่าว พระพุทธเจ้าก็ขึ้นไปนั่งบนศาลากับนางเกสีผู้นั้น ซักพักยักษ์ก็มาถึงที่ศาลาแห่งนั้น ยักษ์ก็เอ่ยขึ้นว่า “ไอ่หล้าสันออง จะกินสองอัน“ ชายหนุ่มที่พระพุทธเจ้าแปลงกายนั้นก็ว่า “จะกินทั้งสองจริงหรือ จะกินก็กินสิ”

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานชีวิตเรื่อง ชะตาวอก มะกอกแห้ง

ยักษ์อ้าปากกะจะงับกินทั้งสอง ก็ด้วยอนุภาพแห่งพระพุทธเจ้านั้น ทำให้ยักษ์ไม่สามารถที่จะงับปากได้ ก็อ้าปากค้างอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้สอนสั่งยักษ์ตนนั้นด้วยเรื่องของศีล ๕ ให้กับยักษ์ฟัง ยักษ์ก็ทราบถึงเรื่องราวของศีล ๕ แล้วก็ขอรับเอาศีลไปเป็นแนวการปฏิบัติตน แล้วพระพุทธเจ้าที่แปลงกายเป็นชายหนุ่มนั้นก็หันมาพูดกับนางเกสีว่า “นี่นาง เราไม่ใช่คนธรรมดานะ ตัวพระพุทธเจ้าก็คือเรานี่แหละ” เมื่อเรื่องราวผ่านพ้นไปแล้วพระพุทธเจ้าก็ให้นางกลับบ้าน นางก็น้อมไหว้ลาองค์พระพุทธ แล้วก็เดินทางกลับบ้าน

ในระหว่างทางพญาอินทร์ก็เนรมิตตนเป็นคนแก่มานั่งอยู่กลางทางแล้วถามนางเกสีที่เดินผ่านมาว่า “นางไปไหนมาหรือ” นางก็บอกเค้าเล่าเรื่องให้คนแก่นั้นฟังจนหมด
“มึงอยากได้เงิน อยากได้ทองรึเปล่า”
“เราอยากได้สิท่าน”
“ได้แล้วนางจะเอาไปทำอะไรหรือกับเงินทองทั้งหลายนะ”
“ข้าก็จะเอาไปใช้จ่ายเลี้ยงดูชีวิตและจะเอาทำบุญทำทานตลอดไปนะ”
พญาอินทร์ก็บอกกับนางเกสีว่า “ที่ต้นตาล ๔ ต้น ไปเอาเถอะ จะเอาช้างม้าวัวควายมาขนเอา ๒ วัน ๓ วันก็ไม่หมด”

เมื่อไปถึงบ้าน อ้ายทุคตะก็คิดว่านางคงจะหนีมาแน่ๆ เพราะว่าคนอื่นที่ไปไม่เคยมีใครเลยที่จะกลับมา เมื่อเจ้าทุคตะเห็นเมียของมันกลับมาที่บ้านดังนั้นมันก็กล่าวว่า “อันนี้ข้าไม่รู้เรื่องกับเจ้าด้วยนะ” เมื่อเจ้าทุคตะโวยวายอย่างนั้นทำให้เพื่อนบ้านได้ยินเรื่องราวที่นางเกสีนั้นรอดกลับมาจากยักษ์ เรื่องราวนั้นก็แพร่กระจายไปจนถึงหูของพญาเจ้าเมือง

พญาเจ้าเมืองก็เรียกนางผู้นี้เข้าไปหาเพื่อสอบถามถึงเรื่องราวต่างๆ ว่านางกลับมาได้อย่างไร นางก็เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบให้กับเจ้าเมืองฟังตั้งแต่ต้นจนนางกลับมาได้ พญาเจ้าเมืองก็ถามอีก “แล้วเมื่อใส่บาตรพระพุทธเจ้านั้น นางได้อธิฐานขอว่าอย่างไรบ้าง” นางเกสีกล่าว “หม่อมฉันก็ขอว่าอยากที่จะเป็นเศรษฐีเจ้าคะ” พญาเจ้าเมืองคิดในใจว่านางผู้นี้นั้นคงเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ จึงให้รับเอานางผู้นี้มาเป็นสนมของพระองค์อีกคน

เมื่อพญารับนางเข้ามาอยู่ในวังแล้วในคืนนั้นนางเกสีผู้นี้ก็เอ่ยปากขอพญาว่า
“ท่านพี่ หม่อมฉันอยากให้ท่านพี่สร้างเรือน ๙ ห้อง ๙ หลังให้กับหม่อมฉันนะ”
“นางจะเอาไปทำอะไรตั้งมากมายเรือนใหญ่ขนาดนั้น และตั้ง ๙ หลัง”
“หม่อมฉันจะเอาเป็นที่เก็บเงินที่ขนมาจากต้นตาล ๔ ต้นนั้นนะ”
พญาเจ้าเมืองก็ทำตามคำขอแห่งนางแต่ว่ามีข้อแม้ว่าถ้าเกิดมันไม่มีตามที่นางพูดนั้น นางเกสีต้องยอมพญาทุกอย่างถึงขั้นว่าให้ตัดหัวก็ยอม

เมื่อพญาสั่งให้ทหารสร้างเรือน ๙ ห้อง ๙ หลังนั้นเทวดาบนชั้นฟ้าก็ได้ลงมาเนรมิตช่วยจนเสร็จภายในวันเดียว หลังจากนั้นนางก็ได้ทำการบวงสรวงเทพยาดา แลผีสางต่างๆ ที่ปกป้องขุมทรัพย์นั้น เมื่อเสร็จพิธี นางก็ให้ทหารขุดหลุมลงไปก็เจอสมบัติเหมือนที่พระอินทร์บอกทุกอย่าง นางก็ขนสมบัติทั้งหลายเหล่านั้น เข้ามาเก็บไว้ยังเรือน ๙ ห้อง ๙หลังนั้นทุกวันๆ จนเต็มเรือนที่สร้างแต่สมบัติทั้งหลายเหล่านั้นที่ขนมาก็ยังไม่หมด

หลังจากที่ได้สมบัติแล้วนั้น นางเกสีก็ได้เปิดโรงทานให้กับชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายที่มีฐานะยากจนให้มารับทานอยู่เรื่อยๆ เป็นเวลานานหลายปี นางเกสีก็ยังมีใจคิดถึงอ้ายทุคตะสามีเก่าอยู่อยากที่จะช่วยเหลือ นางจึงให้ทหารนั้นไปเรียกอ้ายทุคตะคนนี้มาหา นางเกสีที่ประตูราชวัง นางเกสีก็ได้เตรียมกล้วยให้อ้ายทุคตะหวีหนึ่ง แต่ข้างในกล้วยนั้น นางได้เอาทองคำยัดใส่ข้างใน เมื่ออ้ายทุคตะมาถึง นางก็เอากล้วยให้แล้วสั่งย้ำนักย้ำหนาว่า “ให้เอากล้วยนี้กลับไปกินที่บ้านนะ ถ้าใครถามซื้อหรือว่าขอก็อย่าเอาให้เด็ดขาดนะ ต้องเอากลับไปกินที่บ้าน”

เมื่ออ้ายทุคตะนั้นรับกล้วยแล้ว ก็เดินกลับมาที่บ้านพักนั้น พอมาถึงครึ่งทางมันก็เอากล้วยได้มานั้นเอามาแลกเกลือเพราะว่าเกลือที่บ้านของมันนั้นหมดพอดี เมื่อได้เกลือแล้วมันก็เดินกลับบ้านดำเนินชีวิตเหมือนเดิม ส่วนแม่ค้าเกลือที่ได้กล้วยหวีนั้นไปก็เอากล้วยที่ได้เอามาขายที่ตลาด วันนั้นนางคนใช้ของนางเกสีก็เดินมาหาซื้อของที่ตลาดก็ไปเจอกล้วยหวีนั้นที่มีทองซุกข้างใน นางเห็นว่ากล้วยหวีนี้สวยงามดีก็เลยซื้อกลับมาที่ตำหนักของนางเกสีเอากล้วยหวีนั้นมาถวายให้ เมื่อนางเกสีได้เห็นกล้วยหวีนั้นและปลอกกินก็รู้ทันทีว่าอ้ายทุคตะไม่ได้เอากล้วยที่นางให้กลับไปกินที่บ้าน นางจึงคิดอยากที่จะช่วยอ้ายทุคตะอีกครั้ง คราวนี้นางก็เอาทองซุกในก้อนข้าวแล้วเอาใบตองมาห่ออยู่ห่อหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็เรียกตัวอ้ายทุคตะมาแล้วก็เอาห่อข้าวนั้นให้ไปพร้อมกับสั่งว่า “ให้เอาห่อข้าวนี้กลับไปกินที่บ้านนะ ห้ามเอามากินที่ถนนหนทางหรือว่าแม่น้ำเด็ดขาดนะ”

แล้วก็ให้อ้ายทุคตะนั้นกลับบ้านไป พอมันเดินกลับบ้านมันก็เลาะมาตามข้างแม่น้ำใหญ่มา พอดีว่ามีท่อนซุงไหลน้ำมา มันก็คิดในใจว่า “เอ… ท่อนซุงนี้เหมาะแท้” มันก็ลงไปนั่งบนท่อนซุงนั้นไหลน้ำต่อไป แล้วก็แกะห่อข้าวกินบนท่อนซุงนั้น ใจมันนั้นยังรักความสะอาดอยู่มันก็ว่า “เออ ยังไม่ได้ล้างมือ ต้องล้างมือก่อนกินข้าว” พอมันก้มล้างมือ ไม้ซุงนั้นก็คว่ำหมุนลง ห่อข้าวนั้นก็ตกน้ำไป ปลาสวายตัวหนึ่งก็ว่ายมางับห่อข้าวยัดไส้ทองนั้นไปเสีย พอปลานั้นว่ายไปเรื่อยๆ ก็ไปติดแหของพรานหาปลา เมื่อพรานปลาเอาปลาสวายขึ้นมาก็เอะใจว่าทำไมท้องปลาถึงใหญ่ขนาดนั้น จึงนำปลาไปขายที่ตลาด

นางคนใช้ของนางเกสีได้เดินจับจ่ายในตลาด นางก็ได้ไปเห็นปลาสวายตัวนั้นสวยงามเนื้อแน่นดี ก็ซื้อปลานั้นไปให้ในครัวทำอาหารให้กับนางเกสีเสวย พอดีกับที่นางเกสีมาตรวจในครัวก็เห็นแม่ครัวกำลังผ่าท้องปลา และก็พอเห็นห่อข้าวห่อนั้นนางเกสีก็จำได้และก็รู้ว่าอ้ายทุคตะไม่ได้ทองนั้นอีกแล้ว

นางเกสีจึงได้ทำห่อข้าวห่อหนึ่ง ห่อแกลบห่อหึง ห่อขี้เถ้าห่อหนึ่ง ห่อทองคำสามห่อ แล้วนางก็เรียกอ้ายทุคตะมาอีกรอบแล้วให้หยับเอาห่อต่างๆ เหล่านั้นสามห่อ นางก็กะว่าอ้ายทุคตะนั้นคงจะหยิบห่อทองซักห่อหนึ่งหรือว่าสองห่อ ถ้าโชคดีก็ได้สามห่อเลย เมื่ออ้ายทุคตะมาถึงก็ยิบเอาห่อเหล่านั้นสามห่อ พอแกะห่อออกมาดูอ้ายคนนี้ก็ได้ห่อข้าว ห่อแกลบ และห่อขี้เถ้า ไม่ได้ห่อทองซักห่อ นางเกสีก็เอ่ยขึ้นมา “เอ…. อ้ายทุคตะนี้เราไม่สามารถที่จะช่วยได้แล้วจริงๆ แม้แต่พญาอินทร์ก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้แล้ว”

เมื่อนางเอ่ยอย่างนั้นมันก็ทำให้ที่นั่งของพญาอิทราธราชเจ้านั้นแข็งกระด้าง พญาอินทร์ก็รู้ถึงเรื่องราวที่นางอยากจะช่วยอ้ายทุคตะนั้นแต่ก็ช่วยไม่สำเร็จ พระองค์ก็แปลงกายเป็นคนแก่ลงมาแล้วเอาหน้าไม้ให้อ้ายทุคตะให้ยิงไป “ให้เจ้ายิงหน้าไม้นี้ออกไปนะ ถ้าตกแผ่นดินที่ไหนจะให้ขุดดินขึ้นมาลึกวาหนึ่งกว้างวาหนึ่งแล้วเอามาชั่งดูว่า ถ้าได้น้ำหนักเท่าใดนั้นเราจะให้ทองคำเท่ากับน้ำหนักของดินนั้น” แล้วอ้ายทุคตะนั้นก็เอาหน้าไม้ยิงออกไป ลูกหน้าไม้นั้นก็ไปตกปักมะกอกแห้ง ซึ่งน้ำหนักของมะกอกแห้งนั้นไม่มีเลย พญาอินทร์ก็เอ่ยได้อย่างเดียว “โอ้ ชะตาของเจ้านั้นไม่มีใครที่จะช่วยได้ แม้แต่พญาอินทราธิราชก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้แล้วจริงๆ”

นี่แหละที่คนเขาว่า “ชะตามะกอกแห้ง” ตกอับโชคชะตานั้นไม่ดี ต้องช่วยตัวเองอย่าหวังที่จะพึ่งโชคชะตาอย่างเดียว

เรียบเรียงข้อมูล: nitanstory.com
Photo credit: Creative Lanna @YouTube
Credit: lannakadee.cmu.ac.th,
พะเยาโพสต์ PhayaoPost @Facebook

Related posts

นิทานพื้นบ้าน เรื่องจันทโครพ

Admin

นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เรื่อง จระเข้สามพัน

Admin

นิทานอีสป เรื่องไก่กับพลอย

Admin