นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง อานิสงส์ผางประทีป เป็นนิทานคุณธรรมและศาสนา ให้แง่คิดสอนใจเกี่ยวกับการทำความดีหรือทำบุญโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นจะเกิดอานิสงค์ผลบุญมากกว่าการทำบุญที่หวังผล เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามรับชมพร้อมกันเลยค่ะ^^
นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ นิทานศาสนา
เรื่อง อานิสงส์ผางประทีป
กาลครั้งหนึ่ง มีชายทุคตะคนหนึ่ง จะเข้าป่าไปหาฟืนมาขายเป็นอาชีพ ก็ได้ห่อข้าวไปด้วยหวังว่าจะได้กินระหว่างทาง เมื่อไปถึงกลางทางก็ได้พบปะกับมหาเถรเจ้าบิณฑบาต ก็ได้มาคิดว่าตนเองได้ห่อข้าวกับแคบหมู ถ้าได้เอาไปใส่บาตรถวายพระก็คงจะดี ก็ได้เอาห่อข้าวห่อนั้นถวายกับพระมหาเถรเจ้าแล้วก็หาบฟืนไปขาย
วันนั้นเป็นเดือนยี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ ฝ่ายพระมหาเถรเจ้าได้รับข้าวห่อของทุคตะไปแล้ว ก็ฉันข้าวที่ชายทุคตะถวายให้แล้วมาคิดว่า ชายผู้นี้ได้เอาแคบหมูถวายกับห่อข้าวนั้น เราจะบีบเป็นน้ำมันใส่ผางประทีปเพื่อบูชาในวันเพ็ญหรือยี่ หรือยี่เป็ง คิดแล้วพระมหาเถรเจ้าก็บีบแคบหมูเพื่อเอาน้ำมันใส่ผางประทีปในวันนั้น ก็มีมหาเศรษฐีได้นำน้ำมันมาถวายให้กับพระมหาเถรเจ้าเหมือนกัน
พอตกกลางคืนก็เกิดแผ่นดินสะเทือนไหว มหาเศรษฐีก็คิดว่าผางประทีปของตนที่ถวายให้พระมหาเถรเจ้านั้น มีอานิสงส์มากนักก็รีบมาไหว้พระมหาเถรเจ้า แล้วถามว่า “เป็นเพราะว่าน้ำมันที่ตนนำมาถวายใช่หรือไม่” ท่านมหาเถรเจ้าได้ตอบว่า “บ่ใช่ เป็นแต่ชายทุคตะนั้นเอาห่อข้าว มากับแคบหมูทานวันนั้นหื้อแก่เฮา เราบีบเอาน้ำมันหมูนั้นใส่ผางประทีปบูชา แผ่นดินก็จึงไหวขึ้นมา เพราะอานิสงส์ที่ชายทุคตะได้เอาห่อข้าวเป็นทานในวันแรมสิบสี่ค่ำนั้น”
พอมหาเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็เลยเสียอกเสียใจ อยู่ที่ไหนก็เกิดความลังเลคิดจะจุดเทียนบูชาเอง จึงเรียกเสนาอำมาตย์มาพร้อมกัน แล้วกล่าวว่าสมควรปู่จาอีก เลยใช้ให้เสนาขุดหลุมกว้าง 3 วา ใช้เทียนเท่าลำตาลเพื่อจุดบูชา บอกให้เสนาทั้งหลายว่า “ใครคนใดอย่าดิ้น ให้พากันฟังอาการบูชานี้ แผ่นดินจักไหวแน่” พอดีการบูชาแล้วเสร็จก็ไม่ไหวเลย
มหาเศรษฐีจึงกลับไปหามหาเถรเจ้า “ข้าพเจ้าปู่จาแล้วบ่มีแผ่นดินไหวอย่างใด”
พระมหาเถรเจ้าได้บอกหื้อเศรษฐีว่า “การที่เป็นแผ่นดินไหวนั้น เป็นเพื่อชายทุคตะท่านเลยปู่จาแล้วจึงจักไหว ผลอานิสงส์ทานของห่อข้าวกับแคบหมูของทุคตะวันนั้น”
เศรษฐีก็เลยขอแบ่งบุญกับท่านเถรเจ้า ท่านเถรเจ้าก็บอกให้เศรษฐีว่า “ท่านจงไปขอกับชายทุคตะนั้นเถอะ การขอแบ่งบุญนั้นให้มีปัจจัยสี่แลก เปลี่ยน เอาแลกเปลี่ยนกันจึงจะได้”
เศรษฐีอยากได้บุญก็เอาที่อยู่ที่อาศัย ข้าวน้ำ ผ้าครัว ข้าวของเงินทองมามอบให้ชายทุคตะทันที ครานั้นชายทุคตะก็ได้เสวยผลบุญกุศลอันนั้น ด้วยอำนาจที่ได้ให้ทานข้าวห่อกับแคบหมู…จนได้เป็นเศรษฐีถึงวันนี้
ทุคตะ (ทุกคะตะ) แปลว่า ลำบาก, ยากจน, เข็ญใจ
ทุคตะ แปลว่า คนเข็ญใจ คนตกทุกข์ คนได้ยาก เรียก ทุคตะ
“ผางประทีป” คือ ประทีปที่เป็นเครื่องจุดไฟเป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบอายุ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนให้แสงสว่างเวลากลางคืน ตามความหมายดังกล่าวคำว่า ประทีป หมายถึง แสงไฟ ผาง หมายถึง ภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป รวมความ ผางประทีป ก็คือ เครื่องจุดไฟ
“การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน…จะเกิดอานิสงค์ผลบุญมากกว่าการทำบุญที่หวังผล”
การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน คือการให้ที่ให้ด้วยใจ เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ให้แล้วเกิดประโยชน์และความสุขต่อเพื่อนมนุษย์
เรียบเรียงข้อมูล: nitanstory.com Credit: http://nitannorth.blogspot.com/p/blog-page_78.html, https://chiangmaipress.com/2021/11/21/ผางประทีป-จุดบูชาเพื่อ/