Nitan Story
นิทานเซนเรื่อง ตกปลา
นิทาน นิทานก่อนนอน นิทานคุณธรรม นิทานธรรมะ

นิทานเซนเรื่อง ตกปลา

นิทานเซนเรื่อง ตกปลา เป็นนิทานเรื่องสั้นๆ ที่ให้แง่คิดสอนใจที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับความพอเพียง, เมื่อความเพียงพอรวมกับความพอเพียงนั่นคือความสมดุลของชีวิต, ถ้าเมื่อใดที่คุณรู้จักพอเพียง…ความสุขก็จะอยู่กับคุณ, เราควรหมั่นฝึกคิดให้รู้จักพอ…ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ…เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นติดตามรับชมพร้อมกันเลย!!

นิทานเซนเรื่อง ตกปลา

นิทานเซนเรื่อง ตกปลา

มีเศรษฐีคนหนึ่ง เห็นยาจกคนหนึ่งตกปลาอยู่ริมทะเลจึงเดินเข้าไปแล้วพูดว่า

เศรษฐี : “เจ้าทำไมไม่คิดหาวิธีที่จะตกปลาให้ได้มากกว่านี้ เช่นว่าซื้อเรือมาสักลำ”

ยาจก : “ข้าจะต้องทำอย่างนั้นทำไม”

เศรษฐี : “ถ้าหากเจ้าซื้อเรือ เจ้าก็จะออกไปตกปลาได้ไกลกว่านี้ ที่นั่นย่อมมีปลามากกว่านี้”

ยาจก : “หลังจากนั้นล่ะ”

เศรษฐี : “หลังจากนั้นเจ้าก็นำเงินที่ได้จากการตกปลาไปซื้อเรือที่ใหญ่กว่านี้ ไปตกในที่ลึกกว่านี้ ย่อมจะได้ปลามากกว่านี้”

ยาจก : “หลังจากนั้นล่ะ”

เศรษฐี : “หลังจากนั้นเจ้าก็จะตกปลาที่นี่มีความสุขกับชีวิตและหมดความกังวลใดๆ ได้น่ะสิ”

ยาจก : “แต่ตอนนี้ข้าก็ตกปลาอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขกับชีวิตและไม่มีความกังวลใดๆ อยู่แล้วนี่”

แง่คิดสอนใจจากนิทานเซนเรื่องนี้:
“รู้จักพอเพียง…ความสุขก็จะอยู่กับเรา”

นิทานเซนสอนใจเรื่อง ตกปลา

ผู้เขียนขอยกคำพูดที่ดัดแปลงมาจากคำพูดบางช่วงบางตอนของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่เกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องนี้ในเรื่องที่ว่า “คิด…ให้รู้จักพอ” ตามด้านล่างนี้

ความคิดอย่างหนึ่งที่สมควรฝึกให้เกิดขึ้นเป็นประจำคือ…”ความคิดว่าพอ…”คิดให้รู้จักพอ…ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ…ส่วนผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้ร้อนเร่าแสวงหาไม่หยุดยั้ง…ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่เป็นโต มั่งมีมหาศาล และความรู้จักพอก็มีได้แม้ในผู้ยากจน ต่ำต้อย …ทั้งนี้ก็เพราะความพอเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับฐานะภายนอก …คนรวยที่ไม่รู้จักพอก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา …คนจนที่รู้จักพอก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา

การยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้นทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชาตินี้อาจทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจให้มั่งมีนั้นทำได้ทุกคนแม้มีความมุ่งมั่นจะทำจริง

คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้านและคนเกียจคร้านก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ…ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง!! แล้วอบรมตนเองอย่าเกียจคร้าน ให้เป็นคนเพียรพยายามขยันอดทน แต่ให้เป็นคนรู้จักพอ.
(ที่มา: หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

………………………..

เรียบเรียงข้อมูล : nitanstory.com
Photo Credit: fkabay @ Pixabay, Credit: dharma-gateway.com, dhammajak.com

Related posts

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานสั้นๆ เรื่อง กับแก้กับงูเขียว

Admin

นิทานอีสป เรื่องหมากับเงา

Admin

นิทานอีสป เรื่อง ลมและพระอาทิตย์

Admin