Nitan Story
นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่องสั้น เรื่องแม่นาคพระโขนง
ตำนานเรื่องเล่า นิทาน นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่อง แม่นาคพระโขนง

นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่อง แม่นาคพระโขนง เป็นอีกตำนานผีไทย ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ที่ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์แล้วทั้งนั้น เรื่องแม่นาคพระโขนงบ้างก็ว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา บ้างก็เชื่อกันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องราวแม่นาคพระโขนงเรื่องสั้นโดยย่อจะเป็นอย่างไรนั้น พร้อมทั้งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และความเชื่อของคนไทยเรื่องแม่นาคจะเป็นอย่างไร… ไปติดตามรับชมพร้อมกันเลยค่ะ

นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่อง แม่นาคพระโขนง

นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่องสั้น เรื่องแม่นาคพระโขนง

         เรื่องเล่า…ของสามีภรรยาหนุ่มสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ด้วยกันที่ย่านพระโขนง สามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีหมายเรียกให้ไปเป็นทหารประจำการที่บางกอก นางนาคจึงต้องอยู่ตามลำพัง

เวลาผ่านไป ท้องของนางนาคก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนครบกำหนดคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ ทว่าลูกของนางนาคไม่ยอมกลับหัว และคลอดออกมาตามธรรมชาติ ยังผลให้นางนาคเจ็บปวดเป็นยิ่งนัก และในที่สุดนางนาคก็ทานความเจ็บปวดไว้ไม่ไหว สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม

หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว นายมากกลับมาถึงในเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี จึงไม่ได้พบชาวบ้านเลย เนื่องจากบริเวณบ้านของนางนาค หลังจากที่นางนาคตายไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เพราะกลัวผีนางนาคซึ่งต่างก็เชื่อกันว่าวิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นเฮี้ยน และมีความดุร้ายเป็นยิ่งนัก

ครั้นเมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้าน นางนาคก็คอยพยายามรั้งนายมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปพบใคร เพราะเกรงว่านายมากจะรู้ความจริงจากชาวบ้าน นายมากก็เชื่อเมีย เพราะรักเมีย ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว

         จนวันหนึ่ง…ขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำสากตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บสากที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน

นายมากวางแผนหลบหนีผีนางนาค โดยการแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาดินอุดไว้ ตกกลางคืนทำทีเป็นไปปลดทุกข์เบา แล้วแกะดินที่อุดตุ่มไว้ให้น้ำไหลออกเหมือนคนปลดทุกข์เบา จากนั้นจึงแอบหนีไป นางนาคเมื่อเห็นผิดสังเกตจึงออกมาดู ทำให้รู้ว่าตัวเองโดนหลอก จึงตามนายมากไปทันที

นายมากเมื่อเห็นผีนางนาคตามมาจึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด นางนาคไม่สามารถทำอะไรได้เพราะผีกลัวใบหนาด นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนาคไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วผัวตัวเองอีกประการหนึ่ง ทำให้นางนาคออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง ซึ่งความเฮี้ยนของนางนาค ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง ในที่สุด นางนาคก็ถูกหมอผีฝีมือดีจับใส่หม้อถ่วงน้ำ จึงสงบไปได้พักใหญ่

         จนกระทั่ง…ตายายคู่หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ เก็บหม้อที่ถ่วงนางนาคได้ขณะทอดแหจับปลา นางนาคจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สยบลงได้ กะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนาคถูกเคาะออกมาทำปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัดโบราณ)

เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และนำนางนาคสู่สุคติ หลังจากนั้น ปั้นเหน่งชิ้นนั้นก็ตกทอดไปยังเจ้าของอื่นๆ อีกหลายมือ ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ฟังอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้

นิทานพื้นบ้านภาคกลางเรื่อง แม่นาคพระโขนง

ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์

เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบว่า จากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ของ อำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อ ขุนศรี ที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และทางฝ่ายลูก ๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน

และพบว่าสามีของอำแดงนาก ไม่ใช่ชื่อ มาก แต่มีชื่อว่า นายชุ่ม ทศกัณฑ์ (เพราะเป็นนักแสดงในบท ทศกัณฑ์) และพบว่า คำว่า แม่นาก เขียนด้วยตัวสะกด ก ไก่ (ไม่ใช่ ค ควาย) แต่การที่สามีแม่นากได้ชื่อเป็น มาก เกิดขึ้นครั้งแรกจากบทประพันธ์เรื่อง “อีนากพระโขนง” ซึ่งเป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. 2454 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เคยทรงครอบครองกระดูกหน้าผากของแม่นากนี้ด้วยเช่นกัน โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำมาถวาย

ความเชื่อของคนไทยเรื่องแม่นาค

  1. เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นากอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นากได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านเป็นคนเจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นากทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาก และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
  2. เชื่อว่ายังมีผู้สืบเชื้อสายจากแม่นากมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้น คือ พีท ทองเจือ ดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งครั้งหนึ่ง พีท ทองเจือ ก็เคยได้รับแสดงบทพ่อมาก ในละครเรื่องแม่นาค ของทางช่อง 7 อีกด้วย
  3. เชื่อว่าเป็นปั้นเหน่งที่ทำจากหน้าผากกะโหลกแม่นาก ปัจจุบันถูกครอบครองโดยนักสะสมพระเครื่องผู้หนึ่ง

………………………..

เรียบเรียงข้อมูล : nitanstory.com
Credit: เล่าเรื่อง @ blockdit, legendofthailand.wordpress.com

Related posts

นิทานภาษาอังกฤษ เรื่องราชสีห์กับหนู (The Lion and the Mouse)

Admin

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่องลูกเนรคุณ

Admin

นิทานธรรมะสอนใจ เรื่องตะเกียงวิเศษ

Admin