นิทานพื้นบ้านภาคเหนือเรื่อง เต่าน้อยอ่องคำ (กระดองทองคำ) เป็นนิทานพื้นบ้านของอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีเค้าโครงเรื่องคล้ายกับเรื่อง “ปลาบู่ทอง”และ”สังข์ทอง” เนื้อเรื่องอ่านสนุก แทรกสอดความรักของแม่ที่มีต่อลูก และแง่คิดสอนใจในเรื่องผลของกรรมหรือการกระทำ ถ้าทำดีสุดท้ายแล้วย่อมได้ดีมีสุข ถ้าทำไม่ดีแล้วย่อมพบความเสื่อมและความทุกข์ในที่สุด ซึ่งนิทานเรื่องนี้มีหลักฐานเกี่ยวพันกับหมู่บ้านทุ่งขันไชย หรือบ้านทุ่งเต่าไห้ ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย ในอดีต เรื่องนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามรับชมพร้อมกันเลยค่ะ^^
นิทานพื้นบ้านภาคเหนือเรื่อง เต่าน้อยอ่องคำ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีเศรษฐีคนหนึ่งมีเมีย ๒ คน เมียหลวงเป็นคนใจบุญสุนทาน มีลูกสาวชื่อนางอุทธรา ส่วนเมียน้อยเป็นผีกระสือปลอมตัวมา ชื่อนางกาไล มีลูกสาวชื่ออุททา ลูกสาวทั้งสองของเศรษฐีมีหน้าตาคล้ายกัน วันหนึ่งสามีพาเมียทั้ง 2 ออกไปหาปลา แต่เมียน้อยที่เป็นผีกระสือแอบกินปลาในข้องตนจนหมด จึงหาทางสลับที่นั่งกับเมียหลวงและใส่ร้ายว่าเมียหลวงเป็นกระสือแอบกินปลาที่หาได้จนหมด ด้วยความโมโหเศรษฐีจึงใช้ไม้พายทุบตีเมียหลวงจนตกน้ำตาย …เมื่อพ่อกับนางกาไลมาถึงบ้าน สาวน้อยอุทธราก็ถามหาแม่ นางกาไลตอบว่า “แม่เจ้าไปเก็บผัก เดี๋ยวก็กลับดอก” ตั้งแต่นั้นมาอุทธรามิได้เคยเห็นหน้าแม่อีกเลย ถูกนางกาไลใช้งานอย่างหนัก และต้องไปเลี้ยงควายแทนบ่าว
วันหนึ่งสาวน้อยต้อนควายไปกินหญ้าริมน้ำ มีนางเต่าทองคำตัวใหญ่คลานขึ้นมาจากน้ำ มาคุยกับนางและหวีผมให้ แล้วบอกว่า “อุทธราเอ๋ย นี่แหละแม่ของเจ้า แม่ตายแล้ว ไปเกิดเป็นเต่า แม่จะมาคุยเป็นเพื่อนเจ้าทุกวัน” เมื่อกลับถึงบ้าน นางกาไลผู้ตาแหลมเห็นผมของสาวน้อยหวีเรียบ และเกล้าไว้อย่างงดงามก็ทักขึ้น
“ไปหวีผมที่ไหนมา ให้ไปเลี้ยงควายนะ ไม่ใช่ให้ไปแต่งตัว”
“ฉันไม่ได้หวีดีอะไรดอกจ๊ะ เอาน้ำลูบเท่านั้น”
ต่อมาไม่ช้าไม่นาน เด็กที่ไปเลี้ยงควายด้วยกันแลเห็นมีเต่าทองขึ้นมาจากน้ำ มาหวีผมให้อุทธราก็กลับเอาไปเล่าที่บ้าน
ข่าวได้กระจายไปถึงหูนางกาไล เมียน้อยเมื่อทราบข่าวก็แกล้งป่วย บอกกับสามีว่าต้องทานเนื้อเต่าน้อยอ่องคำจึงจะหาย นางจึงยุเศรษฐีให้เกณฑ์บ่าวไพร่ไปทอดแหเต่ามาต้มทำอาหาร ส่วนอุทธราก็ลอบไปกระซิบบอกแม่ให้หลบหนีให้ดี ถ้าจวนตัวให้กบดานที่ชะง่อนหินใต้น้ำเสีย พวกบ่าวไพร่ไปทอดแหตั้งแต่เช้ายันค่ำก็ไม่ได้เต่าทองคำ นางกาไลจึงขู่เข็ญเอากับนางอุทธรา “ถ้าเอ็งไปเอาเต่าขึ้นมาให้ข้าไม่ได้ ข้าจะฆ่าเอ็งเสีย” อุทธราจึงเอาข้าวไปเคาะที่ริมน้ำ นางเต่าทองก็ลอยตัวว่ายน้ำเข้ามาหาลูก อุทธราจึงช้อนตัวแม่ อุ้มไปให้นางกาไล นางกาไลสั่งให้อุทธราต้มน้ำทันที แล้วบังคับให้สาวน้อยต้มแต่ของตัวเอง อุทธราค่อยๆ หย่อนหางแม่ลงไปในน้ำเดือด แล้วก็ชักขึ้นเสีย นางกาไลก็มายืนคอยบังคับ ด่าอยู่เอ็ดอึง เร่งให้หย่อนเต่าลงน้ำ เต่าทองคำจึงบอกลูกน้อยของตนว่า “หย่อนแม่ลงไปเถิดลูกจ๋า แม่ยอมตาย หย่อนเถิด มิฉะนั้นเขาจะฆ่าลูกของแม่” อุทธราร้องให้ปิ่มว่าจะขาดใจตาย ค่อยๆ หย่อนแม่ลงไปในน้ำเดือด
เมื่อหางของแม่เต่าทอง แตะน้ำเดือด นางเต่ารู้สึกร้อนแทบว่าจะตาย นึกถึงหางน้อยนี้เคยใช้หยอกล้อเล่นกับลูก พอขานางแตะน้ำที่เดือดพล่าน นางเต่าก็ระลึกได้ว่าขานี่แหละที่อุ้มลูกเดินทางไปเที่ยวนอกบ้าน เมื่อลูกยังเล็กๆ เมื่อท้องเต่าจิ้มลงไปในน้ำ นางเต่าก็นึกถึงเมื่อตอนอุ้มครรภ์ลูกน้อย และนึกถึงความสุขความสมหวังของตน ที่จะได้มีลูกน้อยไว้อุ้มชูและเมื่อน้ำร้อนท่วมถึงหน้าอก หน้าอกนี่สิหนอที่ลูกเติบโตขึ้นด้วยน้ำนมจากเต้านมของแม่นี่แหละ เมื่อน้ำถึงปาก ก็นึกถึงเมื่อแม่ลูกยังมีความสุขอยู่ด้วยกัน แม่ใช้ปากนี้แหละพรรณนาถึงความรักที่มีต่อลูก พร่ำสอนลูก พอน้ำเอ่อถึงหน้านางเต่าทองก็นึกถึงเมื่อตอนที่แม่และลูกน้อยเอาแก้มแนบอิงกัน เพื่อถ่ายความอบอุ่นและความรักไปสู่ลูก นางกาไลแบ่งเต่าต้มไปให้ญาติพี่น้อง ซึ่งต่างก็รู้เรื่องราวแล้วต่างไม่ยอมแตะต้องเต่านั้น ต่างทิ้งลงเนื้อเต่าลงใต้ถุนเรือนไป มีหมาดำตัวใหญ่ คาบเอากระดองเต่าไปขุดดินหมกไว้แทะกินในวันหลัง
อุทธราถามหมาด้วยวาจาอ่อนหวาน “ได้ซากของแม่ไว้บ้างไหม” หมาดำมีความสงสารในความกตัญญู จึงยอมขุดกระดองเต่ามาส่งให้ อุทธราจึงนำกระดองแม่ไปฝังในถิ่นไกล เพื่อไว้สักการบูชา กระดองนั้นงอกขึ้นเป็นต้นโพธิ์ทิพย์ ออกดอกและลูกเป็นฆ้อง กลอง และเครื่องใช้เงินทองสะพรั่ง ความทราบถึงราชาผู้ครองนคร จึงส่งคนไปขุดต้นโพธิ์ เอามาปลูกในสวนหลวง ไม่มีใครจะขุดได้ ทั้งๆ ที่อาสากันทั้งเมือง ผู้เฒ่าคนหนึ่งจึงแนะให้ไปเชิญนางอุทธรา ซึ่งกำลังเลี้ยงควายอยู่ นางอุทธราจึงตั้งอธิษฐาน “ถ้าต้นโพธิ์นี้เกิดจากกระดองของแม่ข้าจริง ขอให้ข้ายอมประคองโพธิ์นี้ใส่ในขันทองใบใหญ่ได้” นางก็ขุดได้ตามประสงค์ พระราชาโปรดปรานมาก จึงอภิเษกให้เป็นพระมเหสี
ฝ่ายนางกาไลและนางอุททาบุตรสาว มีความริษยายิ่งนัก ส่งสาวใช้ไปบอกนางอุทธราว่า พ่อเจ็บมากให้รีบมาดูใจ พระราชาจึงจัดกระบวนเกียรติยศให้นางอุทธราไปเยี่ยมพ่อ เมื่อกระบวนเคลื่อนมาใกล้บ้าน นางอุททาจึงอุบายบอกพี่สาวว่ากระบวนตามเสด็จนั้นยาวและมีผู้คนมากนัก พ่อนี้เพลียหนักจะตกใจตาย ขอให้นางอุทธราสั่งกระบวนคอยอยู่ไกลๆ และเดินไปเยี่ยมพ่อเอง นางอุทธราตายใจ จึงถูกนำไปมัด และเอานางไปถ่วงน้ำเสีย เทพยาดาผู้รักษาเมืองได้ช่วยนางไว้ไม่ให้จมน้ำตาย ด้วยบุญบารมีที่บำเพ็ญไว้ในอดีต และนางกาไลได้นำเครื่องแต่งกายและเสื้อผ้าไปให้นางอุททาปลอมตัวและกลับวังแทน
ฝ่ายนางอุททาผู้ปลอมตัวเป็นพี่สาว ผู้เข้าไปสวมรอยตำแหน่งมเหสี แต่มารยาท วาจา และนิสัยทราม ประกอบทั้งพระธิดาของนางอุทธราก็ไม่ยอมเข้าใกล้ ในที่สุดก็ถูกจับได้ว่าปลอมมา พระราชาจึงสั่งให้ประหารชีวิต ตัดร่างกายออกเป็นชิ้นๆ ทำเนื้อสับเอาแขนขาและมือใส่ก้นไห ขูดเนื้อใส่ไว้ปากไหส่งไปให้พ่อแม่กิน ขณะที่สองตายายกำลังกินเนื้อลูกสาว ทหารก็มาตามตัว บังคับให้บอกที่ๆ เอาตัวนางอุทธราไปถ่วงน้ำ เมื่อทหารไปถึงบึง ปรากฏว่านางอุทธรายังไม่ตาย ด้วยอภิบาลของเทพารักษ์ พระราชาและพระธิดายินดียิ่งนัก นางอุทธราได้ทูลขอพระราชาให้ยกโทษแก่พ่อและแม่เลี้ยง พระราชาก็ประทานอภัย ขณะที่ทั้งสองเฒ่าลง …จากตำหนัก พอถึงเชิงบันได้ แผ่นดินก็แยกออก สูบเอานางกาไลลงในในธรณี ส่วนเศรษฐีนั้นก็อยู่ต่อมาอีกจนชราจึงได้สิ้นชีวิต
Credit: nitannorth.blogspot.com/p/sub-nitan.html