Nitan Story
นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องปุ๋ยลำไย

นิทานล้านนา เรื่อง ปุ๋ยลำไย
ลุงทาเป็นชาวสวน แกทำสวนลำไยกว้างขวาง ในฤดูลำไยออกดอกออกผล แกมีความสุขใจที่สุด ดังนั้นตลอดวันแกจะขลุกอยู่แต่ในสวนลำไยตลอดเวลา ลุงทาจะคอยเอาใจใส่ดายหญ้า พรวนดิน และใส่ปุ๋ยรดน้ำ

ครั้นฤดูร้อนย่างเข้ามา ทางเทศบาลเบื่อสุนัข ลุงทาจะชื้ อซากสุนัขเหล่านั้นจากพนักงาน แล้วนำเอาไปฝั่งไว้ที่โคนต้นลำไยต้นละตัว การที่แกทำเช่นนี้ทำให้สวนลำไยของแกงอกงามยิ่งนัก จนแกบอกกับใครๆ ว่า การเอาสัตว์ที่ตายแล้วไปฝังโคนต้นช่วยให้ต้นลำไยเจริญเติบโตรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าใครไม่เชื่อก็ลองดูเถิด มันโตวันโตคืนเชียว

วันหนึ่งลุงเขียวเพื่อนบ้านได้แวะไปเยี่ยมลุงทาที่บ้านแต่ไม่พบ แกจึงแวะไปหาที่สวนลำไย พอดีขณะนั้นย่างเข้าฤดูร้อน ไก่แก่กำลังเป็นโรคระบาดตายกัน และลุงเขียวเป็นนักเลี้ยงไก่ ที่บ้านแกมีไก่มากมาย ลุงทาเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเอ่ยปากบอกลุงเขียวว่า ‘’เขียว เขียว ถ้าไก่คิงตาย ฮาขอเหียเน่อ‘’ (เพื่อน ถ้าไก่ตายขอเสียนะ)

ลุงเขียวได้ยินชักโมโหที่เพื่อนมาพูดเช่นนี้เป็นการแช่งให้ไก่ของตนตาย จึงถามออกไปอย่างโมโหนิด ๆว่า
‘’ถ้าไก่ฮา (ฉัน) ตาย คิง (เพื่อน) จะเอาไปยะหยัง‘’ ((ทำไมล่ะ) ถ้าไก่ฉันตายจริงจะเอาไปทำอะไรล่ะ)
ลุงทาได้ยินไม่คิดว่าเพื่อนของตนโมโหจึงกล่าวว่า ‘’ถ้าได้ไก่ตาย ฮา (ฉัน) ก็จะเอามาใส่ต้นลำไยเป็นปุ๋ยละก่า‘’ (ละซิ)

นิทานพื้นบ้าน_นิทานสอนใจ_เรื่องปุ๋ยลำไย

ลุงเขียวชักฉุน เลยกล่าวต่อไปว่า ‘’ถ้าจะอั้นกันงัวของฮาต๋ายลอ คิงจะเอาก่อ” (ยังนั้นถ้าวัวของฉันตายจะเอาไหมล่ะ) ลุงทาหัวเราะว่า ‘’เอาก่า เอาก่า ถ้างัวของคิงตาย ฮาจะแบ่งใส่ได้หลายต้น ขอคิงฮื้อแต้ๆ เต็อะ” (เอาซี เอาซี ถ้าวัวเพื่อนตาย จะได้แบ่งฝังได้หลายต้น ขอให้ก็แล้วกัน) แกตอบไปอย่างพาซื่อ

ลุงเขียวชักหมั่นไส้ในความเห็นแก่ตัวของเพื่อนจึงพูดตัดบทว่า ‘’ถ้าจะอั้นรถบดถนนต๋ายคิงจะเอาก่อ บ่าเดี๋ยวนี้มีหลายกันจอดอยู่ในโฮงรถข้างก๋มทาง” (ถ้างั้นรถบดถนนตายล่ะจะเอาไหมเดี๋ยวนี้มีหลายคันอยู่ในโรงรถนั้น)

ลุงทาได้ฟังจึงรู้ว่าลุงเขียวพูดเล่นแง่กับตน จึงโมโหและโพล่งออกมาโดยไม่รู้ตัวว่า ”ดีก่าบ่าถ้ารถบดต๋ายแต้ ๆ ฮาจะเอาเป็นปุ๋ยสากมอง ไปไป้ปู่เขียว กำเดียวจะหัวแตก” (ดีซี ถ้ารถบดถนนตายกัน จะเอาเป็นปุ๋ยสากตำข้าว)

ลุงเขียวรู้ท่าว่าเพื่อนของตนโกรธจึงรีบก้าวเท้าจ้ำเดินจากไปโดยไม่เหลียวหลัง พร้อมกับบ่นพึมพำว่า ‘’คนอะหยังจะใดจะเอาก่าได้ฝ่ายเดียว” (คนอะไรจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ความโลภเป็นสมบัติของคนเห็นแก่ตัว และพูดอะไรมักขาดเหตุผล …
หรือการขออะไรจากใคร…พึงขอในสิ่งที่ควรขอ (ดูความเหมาะสม และพูด/ทำ ให้ถูกกาลเทศะ)

Credit: openbase.in.th

Related posts

นิทานพื้นบ้านภาคอีสานสั้นๆ เรื่อง กับแก้กับงูเขียว

Admin

นิทานพื้นบ้านไทย เรื่องดาวลูกไก่

Admin

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องท้าววัวทอง (อุ่นหล้าวัวทอง)

Admin