นิทานล้านนา เรื่อง ปู่ปันแน เป็นนิทานพื้นบ้านภาคเหนือ ที่มีเนื้อหาสนุกเพลิดเพลินและขบขัน พร้อมทั้งให้แง่คิดและคติสอนใจในการใช้ชีวิตไว้อีกด้วย
เรื่อง ปู่ปันแน
ในรัชสมัยที่นครพิงค์ยังมีเจ้าผู้ครองนครอยู่ทุกๆ สามปี… เจ้าผู้ครองนครจะต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปเป็นบรรณาการทางกรุงเทพฯเป็นประจำ… กาลครั้งนั้นอำนาจในการปกครองดูแลบังคับปัญชาประชาชนพลเมืองเป็นของเจ้าผู้ครองนครแต่ผู้เดียว… จึงเรียกท่านว่าพ่อเจ้าชีวิต… เมื่อใครกระทำผิด เช่นลักพริก ลักมะเขือและผัก หากถูกจับได้จะถูกประหารชีวิตทันทีพ่อเจ้าท่านว่ามันเป็นคนเกียจคร้าน มีนิสัยเป็นผู้ร้ายจริง ๆ เขาปลูกเขาฝังทำไมไม่ปลูกฝังอย่างเขาบ้าง… กรณีลักช้าง ม้า วัว ควาย หากถูกจับได้ท่านให้ปล่อยมันไป เพราะมันอยากใคร่ได้อยากใคร่มี
ในคุ้มหลวงอันเป็นที่ประทับของพ่อเจ้าชีวิต จะมีข้าราชบริพาร นางสนมกำนัล และเขนคือตำรวจหลวงเฝ้ารักษาอยู่ นอกจากนั้นยังมีศิลปินผู้มีชื่อในทางเป่าปี่อีกคนหนึ่ง ซึ่งคนทั่วๆไปเรียกกันว่า ‘’ปู่ปันแน”… ในกระบวนเป่าปี่ด้วยกันแล้วทั่วทั้งนครพิงค์หาตัวจับแกไม่ได้ ไม่ว่าเพลงนั้นจะยากและยาวเท่าไร หากปู่ปันได้เป่าแล้ว แกจะเป่าได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง เสียงปี่จะแจ้วเจื้อยติดต่อกันไม่ขาดเสียง เพราะแกสามารถระบายลมได้ เคยมีการแข่งขันเป่าปี่กันหลายครั้ง ปรากฏว่าปู่ปันชนะทุกๆคราว
ด้วยเหตุนี้ พ่อเจ้าชีวิตจึงโปรดเกล้าฯให้ปู่ปันเป็นข้าราชสำนัก เนื่องจากการเป็นศิลปินเอกทำให้ปู่ปันชอบทำอะไรตามใจชอบ พอว่างงานก็ดื่มสุรายิ่งดื่มก็ยิ่งเพลิน เวลาเมาแกจะเอะอะชกต่อยทะเลาะวิวาทกับชาวบ้าน ชาวบ้านเกรงกลัวอำนาจพ่อเจ้าจึงไม่อยากเอาเรื่อง… การที่ปู่ปันปฏิบัติเช่นนี้บ่อยๆ ก็เลยเป็นนิสัย ดังนั้นเวลาปู่ปันเมาครั้งไรมักจะก่อเรื่องก่อราวขึ้นเสมอ… ชาวบ้านบางคนทนไม่ได้ก็นำความกราบทูลกล่าวโทษต่อพ่อเจ้าชีวิต… พ่อเจ้าลงโทษตักเตือนว่ากล่าวหลายครั้งหลายหน ครั้นจะลงโทษรุนแรงลงไปก็สงสาร… การที่พ่อเจ้าปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งทำให้ปู่ปันได้ใจและผยองตัว… คิดว่าตนนั้นเป็นบุคคลสำคัญแม้แต่พ่อเจ้าก็ไม่กล้าลงโทษหนัก
จนกระทั่งวันหนึ่ง… ปู่ปันเมาเหล้าเอะอะอาละวาดบริเวณบ้านหนองคำท้าทายชาวบ้าน… ชาวบ้านพอเห็นปู่ปันเมาต่างพากันหลบเข้าบ้านเสีย ปิดประตูเงียบ… ปู่ปันเห็นชาวบ้านเข้าบ้านรู้สึกไม่พอใจ จึงเดินเปะปะไปจนกระทั่งพบกองอิฐข้างถนน ปู่ปันดีใจตรงเข้าหากองอิฐนั้น… คว้าเอาก้อนอิฐมาขว้างไปยังหลังคาบ้านบริเวณใกล้เคียง… ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านเสียหายมากมาย… เมื่อปู่ปันขว้างจนพอใจก็กลับคุ้มหลวงเหมือนไม่มีเหตุอะไร
ครั้นรุ่งเช้า… ชาวบ้านได้รับความเสียหาย นำเอาความนี้ไปร้องเรียนต่อพ่อเจ้าชีวิต… พ่อเจ้าชีวิตออกไปตรวจเหตุการณ์ที่เกิดเหตุทันที และเห็นว่าปู่ปันทำครั้งนี้เป็นความผิดอันใหญ่… จึงสั่งให้นำเอาตัวปู่ปันไปจองจำไว้ในคุก… พอดีขณะนั้นทางแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ช่วยกันจับกะเหรี่ยงผู้หนึ่งชื่อว่า “พะสะกอ” ในข้อหาว่าปล้นทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย พ่อเจ้าชีวิตสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิต… การที่จะนำเอาใครไปประหารชีวิตจะต้องนำเอาผู้นั้นตระเวนรอบๆเมืองครบสามวันก่อน และป่าวประกาศมิให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง… ผู้ถูกประหารจะถูกจองจำครบ 5 ประการ คือ เท้าใส่ตรวน เท้าติดขื่อไม้ โซ่ล่ามคอ คาใส่คอทับโซ่ และมือทั้งสองสอดเข้าไปในคาไปตอดไปติดกับขื่อที่ทำด้วยไม้เขนนำพะสะกอแห่ไปรอบเมือง
… จนกระทั่งวันที่สามอันเป็นวันสุดท้าย… ขบวนนำนักโทษประหารผ่านคุ้มหลวงอันเป็นที่ประทับของพ่อเจ้าชีวิต… พ่อเจ้าชีวิตเห็นผู้คนมากมายรู้สึกสงสัย จึงถามข้าราชบริพารว่า ‘’ชาวเมืองเขาดูอะไรกันนั่น‘’ ข้าราชบริพารกราบทูลว่า ”เขานำตัวกะเหรี่ยงชื่อ พะสะกอ ไปประหารชีวิตพะย่ะค่ะ‘’… เจ้าหลวงระลึกถึงปู่ปันแนได้ว่า มันประพฤติผิดโทษร้ายแรงสมควรที่จะลงโทษไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อ ไป พ่อเจ้าจึงบอกให้เขนว่า ‘‘เอ่อ บอกเปิ้นรอกำ ขอฝากปู่ปันแนไปคนเต๊อะ” (เออ บอกให้เขารอประเดี๋ยว ขอฝากตาปันไปคน)
ขบวนประหารได้นำผู้ต้องโทษทั้งสองไปประหารยังตำบลท่าวังตาล… เมื่อประหารเสร็จแล้วก็นำความมากราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ… เรื่องราวของปู่ปันแนศิลปินเป่าปี่ก็อวสานลงด้วยอาญาของพ่อเจ้าชีวิต… แม้ว่าพระองค์จะเสียดายสักเท่าไรก็ตาม… แต่เมื่อผิดกฎหมายแล้วก็ต้องปฏิบัติไปอย่างเที่ยงธรรม
1. อันสันดานคนพาลนั้น… เมื่อรู้ว่ามีคนคอยปกป้องแล้วย่อมได้ใจ และจะพาลหนักขึ้น… การเป็นใหญ่จะต้องปฏิบัติอะไรให้เสมอหน้ากัน… อย่าเลือกปฏิบัติให้เสียความเป็นธรรม
2. ‘’ ได้ดีแล้วอย่าลืมตัว…เหมือนกิ้งก่าได้ทอง ”
พ่อเจ้าชีวิต หมายถึง ผู้มีอำนาจเด็ดขาด สามารถสั่งประหารชีวิตได้ทันที
คุ้มหลวง หมายถึง วังที่เจ้าผู้ครองนครประทับ
แน คือ ปี่พื้นเมือง
พ่อเจ้า หมายถึง ผู้ครองนคร
Credit: lanna.mju.ac.th/ “ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน”